พอกันทีกับการต่อคิวกินข้าวมันไก่ร้านดัง ชื่อเสียงมีมากก็จริง ลงสื่อบ่อยมากก็จริง แต่ชาวสิงคโปร์แอบเบือนหน้าหนี แต่ก็ไม่ได้ห้ามให้เราไปลองนะ “ไปลองเถอะ แล้วชั้นจะพาไปกินเจ้าที่ชาวสิงคโปร์หลงรัก จะได้เข้าใจและเปรียบเทียบได้” เพื่อนนักกินชาวสิงคโปร์บอกเรา
ก่อนอื่นถ้าใครยังไม่ตั๋วเครื่องบินไปสิงคโปร์ ก็อย่าลืมเข้ามาหาใน Traveloka ก่อน เพราะเรามีตั๋วเครื่องบินราคาประหยัด พร้อมดีลพิเศษ และคูปองส่วนลดเพียบ!
เช็คราคา จองตั๋วเครื่องบินไปสิงคโปร์ ราคาพิเศษ
สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความพิเศษ เรื่องเชื้อชาติที่แตกต่างแต่อยู่ร่วมกันได้ ชาวจีนที่นี่มีมากมาย พอกันกับชาวมาเลย์ อาหรับ และอินเดีย ยังไม่รวมชาวต่างชาติทั่วโลกที่มาทำงานและอยู่อาศัยที่เกาะแห่งนี้ ภาษาที่เราเห็นตามป้ายต่างๆ เป็นภาษามาเลย์ แต่พูดอังกฤษกับใครเค้าก็รู้เรื่อง
พื้นที่ไม่มีการแบ่งโซนนิ่ง โบสถ์คริสต์อยู่ติดกับมัสยิด และสามารถอยู่ติดกับศาลเจ้าได้เป็นเรื่องธรรมดาของที่นี่ ส่วนอาหารก็เช่นเดียวกัน ชาวจีนส่วนใหญ่ในสิงคโปร์ อพยพมาจากตอนใต้ของจีนแผ่นดินใหญ่ แตกต่างภูมิภาคกันแต่ก็จีนเหมือนกัน ทำให้อาหารที่สิงคโปร์ที่ดูเหมือนมีความคล้ายกันนั้น เต็มไปด้วยรายละเอียดที่แตกต่าง ที่เด็ดคือคนที่นี่ช่างกิน ใช้ความละเอียดแบบชาวจีนและพลังขับเคลื่อนแบบชาวสิงคโปร์ในการทำกิจการ แถมชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่ที่เราเจอก็ช่างกิน ช่างพินิจพิเคราะห์อาหารที่ตนลิ้มลองด้วยความตั้งใจพอกันกับชาวจีนฮ่องกง นี่คือลักษณะหนึ่งของความเป็นเมืองท่า เจอมาหมดแล้วทุกอย่าง เครื่องปรุง ส่วนประกอบ จากทุกประเทศที่เดินเรือผ่านช่องแคบมาลายู จนทำให้ชาวสิงคโปร์สามารถคัดเลือกของที่ดีที่สุด และวิธีการที่ดีที่สุดมาเพื่อเป็นสูตรเด็ดประจำครัวของตัวเอง 10 ร้านนี้เป็นร้านที่เพื่อนช่างกินชาวสิงคโปร์ของเราหลายคนขอแนะนำ หากได้ไปอย่าได้พลาดเลยทีเดียว ที่สำคัญอย่าลืมจองตั๋วเครื่องบินและที่พักกับ Traveloka จองง่ายจ่ายสะดวกรวดเร็ว จ่ายเท่าที่เห็น เที่ยวสิงคโปร์อุ่นใจแน่นอน
1. ข้าวมันไก่ Heng Ji
แม้ว่าจะอยู่ลึกลับหน่อย แต่ก็ไม่น่าจะเกินความสามารถของคนช่างกินที่อยากกินของอร่อยจริงๆ ข้าวมันไก่ Heng Ji ยังคงกระบวนการทำข้าวมันไก่แบบโบราณ คือต้มไก่ด้วยไฟอ่อน ยกขึ้นยกลงเพื่อให้ความร้อนกระจาย และนำออกมาผึ่งมาพักให้เนื้อไก่มีความชุ่มชื้น ไม่กระด้าง ส่วนข้าวก็หุง้วยมันไก่ มีความหอม ขิงกระเทียมไม่แรงโดดเหมือนบ้านเรา ข้าวนุ่ม เบา ราวกับกินคูสคูส ร้านนี้เก่าแก่มาก และชาวสิงคโปร์ที่เราเจอมันพูดถึงข้าวมันไก่ Heng Ji ด้วยหน้าตาเพ้อฝัน (ถึงความอร่อย) ทุกคน แถมบางคนยังบอกว่ากินข้าวมันไก่ Heng Ji มาตั้งแต่หนุ่มๆ สาวๆ สมัยจีบกันด้วยนะเออ ข้าวมันไก่ จัดว่าเป็นอาหารประจำชาติของประเทศสิงคโปร์ ของแท้ต้องเสิร์ฟด้วยซอสสามชนิด ได้แก่ ซอสพริกแดงตำรสเปรี้ยว ซิอิ๊วดำรสเค็มอ่อนๆ และแน่นอนซอสขิงสดสับละเอียด ที่ชูรสแบบหอมชื่นใจ ป.ล. ไม่มีน้ำซุป แต่ก็อร่อยมากมาย
2. Founder Bak Kut Teh บักกุตเต๋
มาสิงคโปร์ก็น่าจะต้องลองบักกุตเต๋ อาหารประจำชาติของเค้าอีกอย่าง ซุปกระดูกหมูสไตล์แต้จิ๋วที่มีรากเหง้ามาจากการเป็นอาหารสำหรับผู้ใช้แรงงานสมัยก่อน กลายเป็นวัฒนธรรมการกินและดื่มชาของประเทศนี้ การรับประทานบักกุตเต๋สำหรับชาวสิงคโปร์จึงถือว่าเป็นการพบปะสังสรรค์ ดื่มชาไป แทะกระดูกหมูไป กินข้าว กินเครื่องเคียง ที่มักมีหลายอย่างให้เลือกในเมนูกันไป บักกุตเต๋เป็นทั้งมื้อเช้า มื้อกลางวัน และมื้อเย็น น้ำกระดูกหมูบางที่ก็ใส่สมุนไพรยาจีน แต่สมัยนี้ที่เราเจอคือไม่เน้นสมุนไพรเหมือนเมื่อก่อน แต่เน้นความสดของหมู แบ่งชนิดน้ำซุปเป็นสองอย่างคือ น้ำเข้มและน้ำใส ร้าน Founder มีหลายสาขา เปิดมานานกว่า 40 ปีแล้ว เจ้าของทำฟาร์มหมูมาก่อนจึงสามารถควบคุมวัตถุดิบได้ แนะนำให้สั่ง Premium Ribs ที่เป็นกระดูกหมูแบบแท่งยาว เนื้อเป็นสามชั้นคือ เนื้อ มัน เนื้อ มีความนุ่มละมุนทุกคำ
3. ของทอดโบราณที่ Lao Zhong Zhong Eating House
หากได้พูดคุยกับนักรับประทานชางสิงคโปร์ สิ่งหนึ่งที่เค้าจะแนะนำก็คือของทอดที่เรียกรวมๆ กันว่า เหล่าจงจง (Lao Zhong Zhong) ประกอบด้วยกุ้งแพทอด (Prawn fritters) ที่ร้านเด็ดและเก่าแก่มากร้านนี้จะมีสูตรพิเศษcและยังทำใหม่ๆ สดๆ กรรมวิธีคือต้องทอดสองครั้ง (double frying) ครั้งแรกทอดเสร็จแล้วเรียงห่อกระดาษพักทิ้งไว้ข้ามคืนเพื่อให้สะเด็ดน้ำมันจนแห้งสนิท เมื่อมีคนสั่งจึงเอามาทอดอีกทีให้กรอบ ร้านนี้มีของทอดให้เลือกมากมาย นอกจากกุ้งแพ ยังมีลูกชิ้นปลา ปอเปี๊ยะ กุ้งชุบแป้งทอด เต้าหู้ทอด ปลาหมึกทอด กุนเชียงสิงคโปร์ที่แนะนำให้ต้องลองกินนะ เพราะไม่เหมือนกุนเชียงของเราหรือของฮ่องกงเอาเลย ที่นี่จะเป็นเนื้อมากกว่าและสีแดงเชียว และ เกี๊ยนทอด ซึ่งก็คือฟองเต้าหู้พันหมูสับผสมกุ้ง อันนี้ที่ภูเก็ตบ้านเรามี รับประทานกับน้ำจิ้มเต้าเจี้ยว ปรุงรสด้วยถั่วลิสงคั่ว และหอมแดงสับ สำหรับนักกินที่ชอบโลบะของภูเก็ต อาจจะเข้าใจอาหารแบบนี้ง่ายกว่า เพราะว่ามาจากรากเหง้าเดียวกัน ป.ล. ร้านเก่าแก่ของแท้จะต้องชื่อ Lao Zhong Zhong Eating House โปรดดูตามภาพ มีคนเลียนแบบใช้ชื่อคล้ายกัน โปรดระวังเพราะคุณอาจจะได้กินอาหารโม่ออกมาจากโรงงาน หาความปราณีตไม่
4. Toa Payoh Rojak
Rojak หรือ โรจั๊ก เป็นสลัดแบบสิงคโปร์ ที่เราอาจไม่คุ้นเคย แต่ชาวสิงคโปร์คือชอบมาก กินกันเป็นเรื่องเป็นราวมาก โรจั๊กเป็นสลัดเค็ม ประกอบด้วยของทอดเช่น เต้าหู้ทอด ปาท่องโก๋ แป้งทอด ผสมกับผลไม้ เช่น ฝรั่ง มะม่วง ถั่วงอกลวก ผักบุ่งลวก แตงกวาสด สับปะรด ชมพู่ เพิ่มเติมก็คือ ไข่เยี่ยวม้า และหมึกแห้งย่าง น้ำสลัดของเค้าทำให้เรานึกถึงน้ำปลาหวานที่เรารับประทานกับมะม่วง หรืออาจจะมีต้นกำเนิดประมาณเดียวกันก็ได้นะ เพราะทำจากกะปิ น้ำมะขาม น้ำตาล มะนาว ความหอมของโรจั๊กที่ไม่เหมือนใครคือเค้าใส่ ดอกขิง (torch ginger) ฝานละเอียดยิบลงไปด้วย แถมก่อนรับประทานยังพโรยถั่วลิสงคั่วป่นใหม่ๆ ลงไปอีก ทำให้มีความหอมพิเศษขึ้น เวลาไปสั่งโรจั๊กที่เจ้านี้ เรามักจะเห็นคิวยาวเหยียด ชาวสิงคโปร์กินโรจั๊กเป็นของว่าง ของแนมกับมื้ออาหาร และมักสั่งจานโตๆ มาแบ่งกัน ราคาจานใหญ่ประมาณ S$6-7
5. Heng Wah Traditional Coffee (Original Tong Ah Coffee)
คิดว่าเพื่อนๆ เมื่อไปสิงคโปร์ก็อาจจะไปพักที่แถวย่านไชน่าทาวน์ และอาจจะต้องได้ยินชื่อคาเฟ่เก่าแก่อย่าง Tong Ah มาแล้ว ร้านนี้เป็นร้านเก่าแก่มาก เป็นคาเฟ่อาหารเช้าที่เปิดถึงบ่าย Tong Ah เปลี่ยนมือไปแล้วหลายเจ้า จนปัจจุบันอาคารสวยงามที่ร้านเคยตั้งอยู่กลายเป็น Potato Head แต่ตัวจริงเสียงจริงสำหรับกาแฟดำ ใส่นมหรือไม่ก็ตาม กาย่าโทสต์ และไข่ลวก 7 นาทีตามแบบฉบับของชาวสิงคโปร์ตั้งอยู่บนชั้นสองของ Chinatown Hawker Center ที่บอกว่าที่นี่เป็นออริจินัลก็เพราะว่า เจ้าของดั้งเดิม คุณ Tan Toh Lee ตอนนี้อายุ 70 แล้ว เป็นหลานปู่ของผู้ก่อตั้งร้านคนแรก (ร้านนี้เปิดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1939) หลังจากพักผ่อนนานหลายปีก็ตัดสินใจกลับมาทำงานแก้เหงากันสองสามีภรรยา ก็ปรากฏว่าเพื่อนๆ (ทั้งวัยเดียวกันและรุ่นหลัง) ดีใจกันมาก เพราะในที่สุดก็ได้กินอาหารเช้าอร่อยๆ แบบชาวสิงคโปร์ที่ทำโดยบาริสต้ารุ่นเก๋า แถมยังมีสังขยาหรือกาย่า (gaya) ทำเองใหม่ๆ สดๆ คู่กับเนยสดของแท้ ไม่ใช่มาการีน กินแล้วมีความสุขใจดีจัง ที่ชอบมากสำหรับร้านนี้คือ เค้ายังทำไข่ลวกแบบโบราณ คือเทน้ำร้อนแล้วพักไว้ 7 นาที และแตกต่างจากร้านอาหารเช้าสิงคโปร์สมัยใหม่ ก็คือร้านนี้มีขนมปังแบบนึ่งให้เลือกด้วย (ที่ร้านอื่นมีแต่ขนมปังปิ้ง กินแล้วกระด้างเพดานปากจัง) ส่วนบรรยากาศเป็น hawker center แบบเก่าแก่ย่านไชน่าทาวน์ที่ตอนนี้กำลังเป็นที่นิยมมากเลยในหมู่นักท่องเที่ยวตะวันตก คำเดียวคือไม่ควรพลาด
6. ก๋วยเตี๋ยวกุ้ง 545 Whampoa Prawn Noodles
อย่างที่เกริ่นไปตอนต้น ชาวสิงคโปร์หลายเชื้อชาติอยู่ร่วมกัน ในตึกคอนโดแห่งหนึ่ง เพื่อนบ้านของเพื่อนนักกินชาวสิงคโปร์ของเราด้านหนึ่งคืออาหรับ อีกด้านหนึ่งคืออินเดีย ในศูนย์อาหาร Tekka Food Center ย่าน Little India คือร้านก๋วยเตี๋ยวกุ้งแบบฮกเกี้ยน ร้านเก่าแก่มาก ปัจจุบันรุ่นหลานเป็นคนทำต่อ (สามเจนแล้ว) ก๋วยเตี๋ยวกุ้งที่นี่หอมน้ำซุป ที่เค้าใช้เปลือกกุ้งต้มล้วนๆ สามารถเลือกได้ว่าจะรับประทานเส้นหมี่เปาะ หมี่กลม ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ (หอฝัน) หรือหมี่ฮุ๊น (เส้นหมี่) คนสิงคโปร์ชอบกินบะหมี่กลมผสมหมี่ฮุ๊น ส่วนประเภทก๋วยเตี๋ยวคือเค้าเรียกเหมือนเรา คือ แห้ง (dry) และน้ำ (soup) หากสั่งแห้งเค้าจะถามว่าซอสคลุกก๋วยเตี๋ยวจะเอาแบบพริกเผ็ดหรือมะเขือเทศ แน่นอนว่าคนไทยอย่างเราแนะนำให้กินแบบเผ็ด เพราะหอมพริกและกุ้งเหลือเกิน ส่วนตัวดิฉันชอบกินก๋วยเตี๋ยวน้ำ สั่งเส้นหอฝัน แต่เติมพริกน้ำส้มลงไป จะบอกว่าความปราณีตของก๋วยเตี๋ยวเจ้านี้ดีมากที่สุด กุ้งทุกตัวนอกจากจะสดเด้งหวานกรอบอร่อยแล้ว เค้ายังผ่าครึ่ง ทำความสะอาดให้อย่างดี ราคาย่อมเยาว์มาก ชามใหญ่เต็มชามเพียง S$4-6 เหรียญเท่านั้น
7. กล้วยทอด Lim Kee
นับว่าเป็นเรื่องเศร้าของวงการชมรมคนรักกล้วยทอดของสิงคโปร์ เมื่อคุณคอรินต์ ลิ้ม (Corlinn Lim) เจ้าของรุ่นที่สองของร้าน Lim Kee แชมเปี้ยนนัมเบอร์วันแห่งราชากล้วยทอดประกาศเลิกกิจการเพื่อเกษียณอายุในปลายเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้แล้วอย่างแน่นอน คนที่อยากจะลิ้มลองรสชาติกล้วยทอดที่อร่อยมากมายที่คนสิงคโปร์ทั้งเกาะให้ความยอมรับ ก็ต้องรีบจองตั๋วไปเที่ยวกันหน่อย ท่านผู้อ่านอาจจะคิดว่ากล้วยทอดไม่ใช่เรื่องยาก แต่ของทุกกอย่างล้วนมีรายละเอียดปราบเซียนกันทั้งนั้น เคล็ดลับอยู่ที่ตัวกล้วย ที่ต้องเลือกเฉพาะกล้วยที่สุกหวานกำลังดีพันธุ์ราชา (Rajah) ของมาเลเซียมาทอด ส่วนแป้งใช้แป้งข้าวสามอย่างที่คุณลิ้มโม่เองกับมือ ผสมผสานกันอย่าลงตัว ระหว่างข้าวใหม่ที่ให้ความเหนียว ข้าวเก่าที่ให้เนื้อแป้ง และข้าวกลางปีที่เป็นตัวปรับสมดุลย์ คุณคอรินต์เล่าให้ทีมงานฟังว่า ขั้นตอนการเตรียมของที่ต้องอาศัยความละเอียดและเวลาความพิถีพิถันขั้นสุดนี่เอง ที่ทำให้เหนื่อยมากเป็นพิเศษ และหาคนมาสืบทอดกิจการยากมาก คุณคอรินต์เคยสอนน้องชาย สอนมาสามปี ทำยังไงก็ทำไม่ได้ กล้วยทอดร้านนี้ลูกละ S$1.80 จะบอกว่าคุ้มค่าเงินทุกสตางค์ เค้าทอดใหม่ๆ สดๆ อุ่นๆ ความหวานหอมของเนื้อกล้วย ความกรุบกรอบกำลังดีของเนื้อแป้งมันแสนจะเข้ากัน ขอให้รีบไปมีถึงเดือนตุลาคมนี้เท่านั้น
8. Mak Hong Kee (HK Kitchen)
ด้วยความเป็นเมืองท่า สิงคโปร์จึงยืดอกได้เต็มที่ว่าเห็นของดีมาแล้วจากทั่วโลก ชาวจีนสิงคโปร์พูดจีนได้หลายตระกูล ฮักก้า ฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว กวางตุ้ง และแมนดาริน สลับกันไปมาตลอดเวลาแล้วแต่โอกาส โจ๊กเป็นหนึ่งในอาหารที่ชาวฮกเกี้ยนทำได้ดีมาก (อ่านเรื่องโจ๊ะฮกเกี้ยนที่อร่อยมาก ขายวันละ 2 ชั่วโมงได้ที่นี่) แต่ยังไงๆ คอมฟอร์ตฟู๊ดชามนี้ก็ยังเป็นอาหารที่ชาวกวางตุ้งกินบ่อยมากจนมีสูตรของตนเอง รวมทั้งหวั่นทั๊นหมิ่น (บะหมี่เกี๊ยว) ของย่าง ผัก ที่เรามักชอบรับประทานคู่กัน Mak Hong Kee เป็นร้านอาหารจีนกวางตุ้งแบบฮ่องกงที่เปิดใหม่ล่าสุดย่านไชน่าทาวน์ของสิงคโปร์ ครัวเปิดแบบสมัยใหม่ ที่ดีคือเผยให้เห็นความสะอาดสะอ้าน ที่เราชอบ ที่สำคัญร้านนี้นำเชฟคนดัง Mak Yip Fu แห่งโรงแรม St. Regis SG, Four Seasons HK, Regent SG มาเป็นพ่อครัวใหญ่ เชฟยิปยังทำอาหารเองทุกจาน จะบอกว่าอร่อยมาก ปราณีตสุดๆ หิวมื้อกลางวันแวะไปรับประทานได้เลย ราคาดีงาม เริ่มต้นที่คนละประมาณ S$6 สำหรับชุดอาหารมื้อกลางวัน นอกจากบะหมี่เกี๊ยวแบบฮ่องกง แนะนำให้ลองข้าวราดเนื้อปูและเต้าหู้ (yellow colour rice with crabmeat) ส่วนของหวานแนะนำมากๆ เพราะอร่อยชื่นใจสุดๆ คือถั่วเขียวต้มแบบกวางตุ้งที่เรียกว่า “เหล่าตงเชง” เสิร์ฟเย็นชื่นใจมาก เหมาะกับอากาศที่ค่อนข้างอบอุ่นของสิงคโปร์ค่ะ
9. ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาแต้จิ๋ว Lau Lim Mee Pok
หากใครอยากรู้ว่าอาหารเดินทางอย่างไร ให้ลองมากินก๋วยเตี๋ยวหมูใส่ลูกชิ้นปลา ก๋วยเตี๋ยวสไตล์แต้จิ๋วของร้านเหล้าหลิมร้านนี้ ซึ่งเป็นร้านเก่าแก่กว่า 52 ปี ปัจจุบันเป็นรุ่นที่สอง ที่นอกจากทำร้านนี้ดั้งเดิมแล้ว ยังขยายสาขาไปไกลถึงอินโดนีเซีย สำหรับคนไทยเราจะพบว่าก๋วยเตี๋ยวแบบนี้มันช่างคล้ายของบ้านเรา คือก๋วยเตี๋ยวหมูชิ้น หมูสับ ใส่ลูกชิ้นปลา ซึ่งลูกชิ้นปลาของสิงคโปร์นี่คือลูกเบิ้มๆ ใหญ่โตน่าหม่ำมาก (ประมาณเดียวกันกับลูกชิ้นปลาภูเก็ต) ที่เพิ่มเติมคือกุ้ง กากหมูเจียว ตรวจสอบแล้วไม่พบกระเทียมเจียวและผักชี ความอร่อยของก๋วยเตี๋ยวเจ้านี้ อีกแล้วมาจากรายละเอียดที่เซียนนักกินก๋วยเตี๋ยวจะทราบ ทีเด็ดคือน้ำซุป ที่ต้องเป็นน้ำซุปใส รสชาติเชงๆ คือหวานหอมธรรมชาติ ของง่ายๆ ในราคาที่กินได้ทุกวัน แต่ทำอย่างสุดฝีมือสุดปราณีตนี่แหละที่ครองใจชาวสิงคโปร์ จะบอกว่าร้านนี้มีคนพยายามเลียนแบบ เลียนแบบทั้งชื้อพ้อง ทั้งโลโก้ ทุกอย่าง แต่เลียนแบบก๋วยเตี๋ยวไม่ได้ ทำยังไงก็ไม่ได้ เป็นอันจบไป แนะนำให้กินหมี่เปาะแห้งที่คลุกด้วยน้ำพริกเผาสูตรเด็ด และหอฝันน้ำ ที่น้ำซุปอร่อยมากที่สุด ป.ล. ร้านนี้เปิดเช้ามากๆๆ มีอาหารเช้าทั้งแบบสิงคโปร์ และแบบมาเลย์คือข้าว nasik lemak และของว่างของทอดแบบสิงคโปร์ หรือ เหล่าจงจง ประมาณเดียวกันกับร้านเบอร์ 3 ด้านบนขายด้วย
10. กินข้าวร่วมกันแบบ Zi Char ที่ Kok Sen Restaurant
ชาวจีนเรียกอาหารตามสั่งว่า Zi Char คือสั่งอาหารมาหลายๆ อย่างแล้วรับประทานด้วยกัน ร้าน Kok Sen ย่านไชน่าทาวน์ เป็นร้านเก่าแก่ ชื่อดัง และคนแน่นตลอดเวลาแบบไม่รับจอง และเป็นร้านที่ได้ Bib Gourmand ของมิชลินมาสองปีซ้อน ร้านนี้ขายมาหลายสิบปี ตั้งแต่ถนนเส้นนี้ (Keong Saik Road) ยังเป็นถนนสายโคมแดง (ปัจจุบันยังมีบางบ้านที่เป็นโคมแดง สามารถอ่านเรื่องได้ที่ 72 Hours in SG) จนปัจจุบันในขณะที่ร้านอื่นพากันแต่งตัวสวย ตกแต่งร้านเพื่อเรียกลูกค้า ร้าน Kok Sen ก็ยังคงทำงานเหมือนเดิม คือให้อาหารที่อร่อยมากๆ ราคาที่คุ้มค่า เป็นดาวเด่นที่ยั่งยืน
เมนูตามกำแพงเป็นภาษาจีน อย่าได้กลัว เพราะเค้ามีเมนูภาษาอังกฤษด้วย ที่เราชอบมากที่สุดคือราดหน้าปลาเต้าซี่ ที่ปลาสดมากและผัดเส้นก๋วยเตี๋ยว (หอฝัน) ได้นุ่มและหอมสุดๆ นอกจากนั้นยังมีราดหน้ากุ้งแบบหวาดต๋านคืดใส่ไข่ด้วย อร่อยมาก กระดูกหมูผัดมะระ หัวปลาตุ๋นแกงกะหรี่ (อร่อยมากๆๆๆ) ผัดผักบุ้งใส่กระปิและกากหมู และไก่กะปิทอด ทั้งหมดกินห้าคน หมดไป S$100 นับว่าดีงามเป็นอันมาก อาหารมีมากมายกินสิบรอบยังไม่ครบ หากไปน้อยคนแนะนำให้สั่งจานเล็กนะคะ
สามารถติดตาม Ohhappybear ได้ทาง Facebook www.facebook.com/ohhappybear หรือ Instagram @ohhappybear (https://www.instagram.com/ohhappybear/) หรืออ่านเรื่องราวอื่นๆ ได้ที่ www.ohhappybear.com ค่ะ