“นมัสเต” เสียงทักทายที่มาพร้อมรอยยิ้มกว้างในทุกมุมเมืองที่ไปเยือน มิตรภาพคือของขวัญที่งดงามจากการเดินทาง เคยสงสัยไหมว่าทำไมทุกวันนี้คนไทยหันมาเที่ยวอินเดียมากขึ้น อินเดียไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อเดินทางไปจาริกแสวงบุญเพียงอย่างเดียว คนตั้งฉายาให้ภูเขาที่ลาดักห์ (Ladakh) เป็นสวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเชีย ทัชมาฮาล (Taj Mahal) อนุสรณ์สถานแห่งความรักคือหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ที่ต้องมาเยือนสักครั้งในชีวิต เทศกาลโฮลี (Holi Festival) เทศกาลแห่งสีสันที่ดึงดูดให้คนทั่วโลกอยากมาสัมผัส ... อินเดียมีดีอีกมาก
ก่อนหน้านี้ได้ฟังเรื่องราวอินเดียมามาก เรื่องที่คนมักพูดถึงคงไม่พ้นเรื่องของเมืองไม่สะอาด ขอทานเยอะ แถมอันตรายสูง แต่ทำไมหลายคนยังเลือกที่จะไปอินเดีย ของแบบนี้ไม่ลองไม่รู้ ยิ่งได้ฟังยิ่งอยากไปสัมผัส เที่ยวรอบนี้เรามีเวลาทั้งสิ้น 8 วัน ด้วยความที่ชื่นชอบงานศิลปะและสถาปัตยกรรมสวย ๆ ปลายทางจึงมุ่งไปด้านฝั่งตะวันตกของอินเดียคือ รัฐราชสถาน (Rajasthan) และข้ามไปรัฐติดกันซึ่งตั้งทางตอนเหนือของอินเดียคือ รัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) เรียกว่าเจอครบทุกฟิลลิ่ง รัก สนุก ผจญภัย กระทั่งแอบเซ็ง สุดท้ายการเดินทางครั้งนี้เปลี่ยนทัศนคติและมุมมองของเราที่มีต่ออินเดียไปตลอดกาล เราพกพาอินเดียในความรู้สึกใหม่กลับบ้าน ชวนทุกคนมารู้จักอินเดียไปด้วยกันแล้วคุณจะยิ่งรู้จัก ยิ่งหลงรัก “อินเดีย”
เที่ยวรัฐราชสถาน (Rajasthan) ต้องเลือกลงสนามบินปลายทางที่เมืองชัยปุระ (Jaipur) สายการบินจากประเทศไทยที่คนนิยมบินตรงคือ Thai Smile และ Thai AirAsia การจองตั๋วผ่าน Traveloka ลดแล้วลดอีกยังไง? Traveloka เป็นผู้ช่วยหลักสำหรับ Budget Traveler อย่างเรา ทุกครั้งที่จองตั๋วเครื่องบินเราจะเทียบราคาระหว่างหน้าเว็บไซต์สายการบินที่ต้องการกับ Traveloka Mobile App ผลลัพธ์คือบ่อยครั้งที่ราคาตั๋วที่จองผ่าน Traveloka ถูกกว่าราคาจองตรงผ่านสายการบินกว่าครึ่ง แถมยังมีโค้ดส่วนลดราคาให้อีกต่อหนึ่ง เรียกว่าคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม
การจองที่พัก หลายคนกังวลว่าจะเที่ยวต่างประเทศเองต้องจองที่พักยังไง ไม่ยากเลยแค่ค้นหาผ่าน Traveloka Mobile App จะมีที่พักเรียงรายมาให้เลือกมากมายพร้อมข้อมูลที่ช่วยให้เราตัดสินใจได้ง่ายขึ้น อินเดียเป็นประเทศที่มีที่พักหลากหลาย เกสท์เฮาส์ โฮสเทล ไปจนถึงโรงแรมระดับมากกว่า 5 ดาว เที่ยวรอบนี้ค่อนข้างกังวลเรื่องที่ตั้งของที่พักในเมืองอัครา (Agra) เพราะต้องการที่พักจุดที่ไม่ไกลจากทัชมาฮาล เพียงค้นหาผ่าน Traveloka Mobile App ใส่พิกัดที่ต้องการ จะไล่เลียงที่พักพร้อมบอกระยะทางมาให้เราเลือกเสร็จสรรพ พร้อมโค้ดส่วนลดอีกเช่นเคย
จองตั๋วเครื่องบินไปชัยปุระ (Jaipur) กับ Traveloka
เวลา 8 วัน 6 คืน ของเราจะเที่ยวในเขตรัฐราชสถาน (Rajasthan) เป็นหลัก ประกอบด้วย 3 เมือง คือ เมืองชัยปุระ (Jaipur) เมืองจ๊อดปูร์ (Jodhpur) เมืองพุชการ์ (Pushkar) และข้ามไปฝั่งรัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) เมืองอัครา (Agra) คิดจะเที่ยวอินเดียควรมีเวลาหลายวัน เนื่องจากเมืองแต่ละแห่งตั้งห่างกัน บางเมืองอาจต้องใช้เวลาเดินทางเป็นวัน แถมในช่วงกลางวันรถติดมหาศาล วิธีการเดินทางที่นักท่องเที่ยวนิยมเลือกใช้เพื่อเดินทางข้ามเมืองคือ รถไฟ แต่ถ้ามีสมาชิกผู้ร่วมหารหลายคนการเลือกใช้บริการรถส่วนตัวพร้อมคนขับเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด สะดวกสบาย กระชับเวลา และปลอดภัย เราเองก็เลือกการเช่ารถพร้อมคนขับเช่นกัน
แนะนำ Ranthambore Tour Cab ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ : http://www.ranthamborecab.com/ โดยส่งแพลนการเดินทางให้บริษัทรถล่วงหน้าประมาณ 2 เดือนก่อนเดินทาง ตกลงง่าย รถใหม่และสะอาด ตรงต่อเวลา บริการดี และราคาประหยัด รถของเราเป็น Toyota Innova เวลาเช่า 6 วัน ราคา 30,000 รูปี (ราคารวมตั้งแต่ค่าเช่ารถ ค่าคนขับ ค่าน้ำมัน และค่าทางด่วน ส่วนเงินทิปคนขับแล้วแต่ความพึงพอใจของเรา)
คนอินเดียมีวัฒนธรรมและพฤติกรรมที่ทำให้เราแปลกใจหลายอย่าง ซึ่งล้วนแต่เรียกรอยยิ้มเราได้เสมอ เที่ยวอินเดียนึกว่าตัวเองเป็นดารามีคนมาสะกิดขอถ่ายรูปตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าสวย (ฮ่า ฮ่า) แต่คนอินเดียมีนิสัยชอบการถ่ายรูปมากและการได้ถ่ายรูปกับนักท่องเที่ยวนั้นโคตรเท่ บนท้องถนนเสียงแตรรถกังวานลั่น แต่ไม่มีการลงรถมาด่าทอกัน แถมท้ายรถเกือบทุกคันจะมีประโยคว่า Horn Please! โปรดบีบแตรใส่ฉันเถิด เพราะเขาเชื่อว่า Good Horn Good Brakes Good Luck คนอินเดียรอบกายเราน่ารัก สัมผัสได้ถึงความตั้งใจและใส่ใจ หากเราขอในสิ่งที่เขาทำให้ได้คำว่า No Problem จะกล่าวออกมาทันที ทุกครั้งที่เขาทำภารกิจที่ได้รับมอบหมายเสร็จจะถามเราเสมอ Are you OK? แม้กระทั่งเวลาเดินไปไหนมาไหน เราจะเห็นรอยยิ้มและการโบกมือทักทายตลอดเวลา
เราออกเดินทางโดยสายการบิน Thai AirAsia จากกรุงเทพฯ (เวลา 21.05 น.) สู่เมืองชัยปุระ ใช้เวลาบิน 4 ชั่วโมง 30 นาที ถึง Jaipur International Airport เวลาประมาณเกือบตี 2 ตอนแรกตัดสินใจกันว่าจะนอนที่สนามบิน แต่ก่อนเดินทางไม่กี่วันลองเข้าไปค้นหาที่พักใกล้สนามบินจาก Traveloka Mobile App เจอที่พักดีและราคาถูกรอบสนามบินหลายแห่ง เลยตัดสินใจว่าฉันควรสวยรับวันใหม่เลือกนอนที่ Zade House Jaipur แนะนำต่อที่พักใกล้สนามบินเดินทาง 5 นาทีถึง และห้องพักดีเกินราคามาก ซึ่งบริเวณด้านหน้าสนามบินมีเคาน์เตอร์บริการรถ Taxi เราเหมามาส่งที่พักในราคา 150 รูปี
วันที่ 2
เรานัดรถจาก Ranthambore มารับ (เวลา 07.00 น.) แพลนวันนี้เรียกว่าโตในรถก็ไม่ผิดนอนยาวไป เราจะเดินทางข้ามไปยัง รัฐอุตตรประเทศ เมืองอัครา เพื่อสัมผัสกับสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่เหนือกาลเวลาทัชมาฮาลในวันรุ่งขึ้น ใช้เส้นทางด้านทิศตะวันออกของรัฐราชสถาน ระยะทางประมาณ 240 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง 30 นาที ที่เมืองอัคราเราเลือกนอนที่ Hotel Dazzle Agra ทำเลดีเดินทางโดยรถยนต์ประมาณ 5 นาทีก็ถึงทางเข้าทัชมาฮาล และยังใกล้แหล่งอาหารยังชีพอย่างร้าน KFC และ Pizza Hut ด้วย
แชนด์ เบารี (Chand Baori) ตั้งอยู่ระหว่างทางที่จะเดินทางไปเมืองอัครา เป็นบ่อน้ำขั้นบันไดที่ลึกและใหญ่ที่สุดในอินเดีย สร้างตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 9 โดยการระดมชาวบ้านมาช่วยกันสร้าง เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในหมู่บ้าน (ไม่มีค่าเข้าชม)
อินเดีย เป็นประเทศที่สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของความรักนั้นยิ่งใหญ่ ความรักระหว่างหนุ่มสาว ความรักต่อเทพเจ้าที่ศรัทธา ถูกถ่ายทอดเรื่องราวผ่านงานสถาปัตยกรรม ประเพณี และวิถีชีวิตที่งดงามของคนอินเดีย
ทัชมาฮาล (Taj Mahal) สัญลักษณ์สำคัญของอินเดีย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยมุนา (Yamuna) เป็นสุสานหินอ่อนอนุสรณ์สถานแห่งความรักของสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน ที่สร้างให้แก่ มัมทัส มาฮาล พระมเหสีผู้เป็นที่รักยิ่ง ใช้เวลาสร้างและตกแต่งกว่า 22 ปี ระดมคนงานและช่างฝีมือร่วมในการก่อสร้างประมาณ 20,000 คน ซึ่งสูญเสียงบไปมหาศาล ถึงแม้เรื่องจะจบลงที่ความเศร้าใจ แต่อานุภาพแห่งรักยังคงตราตรึงใจคนทั้งโลก
ตามธรรมเนียมถ่ายรูปกันหน่อย ตอนแรกก็มีไม่กี่คนแต่พอถ่ายไปถ่ายมาทำไมเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ก็สนุกสนานกันไป
การล่องเรือชมทัชมาฮาลนั้นขึ้นอยู่กับดวง เพราะบางวันก็มีเรือบางวันก็ไม่มีเรือ ซึ่งต้องเดินออกจากทัชมาฮาลประตูด้านฝั่งตะวันออก (Eastern Gate) เดินเลาะกำแพงไปประมาณ 500 เมตร สุดทางจะเห็นเรือจอดอยู่ในแม่น้ำยมุนา ซึ่งสามารถล่องเรือได้ไกลๆ เท่านั้น มิสามารถเข้าไปในเขตทัชมาฮาลได้ คนละ 1,000 รูปีหรือแล้วแต่เจรจาต่อรอง
หลังจากนั้นเราแวะไปร้านขายของที่ระลึกซึ่งถือเป็นต้นตระกูลเปอร์เซียผู้สืบทอดการทำ Mable Inlay ของทัชมาฮาล
ป้อมอัครา (Agra Fort) อนุสรณ์สถานสำคัญอีกหนึ่งแห่งและเป็นมรดกโลกโดย UNESCO ตั้งอยู่ห่างจากทัชมาฮาล ประมาณ 2.5 กิโลเมตร ตามประวัติศาสตร์ป้อมแห่งนี้เป็นสถานที่ซึ่งพระโอรสองค์ที่ 3 ของสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน จับพระบิดามาคุมขังไว้ที่ป้อมแห่งนี้เป็นเวลากว่า 8 ปีก่อนสวรรคต โดยตามตำนานเล่าว่าก่อนสิ้นใจสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน ยังคงกำกระจกไว้ในพระหัตถ์เพื่อให้สะท้อนเห็นภาพของทัชมาฮาลในวาระสุดท้ายของชีวิต (ค่าเข้าชมคนละ 1,000 รูปี)
เราออกเดินทางจากเมืองอัครา (เวลา 07.00 น.) เพื่อกลับสู่เมืองชัยปุระ รัฐราชสถาน โดยใช้เส้นทางเดียวกับตอนขาและ กลับถึงเมืองชัยปุระประมาณช่วงบ่ายก็เที่ยวต่อเลย สำหรับที่พักเมืองชัยปุระเรานอนที่ Hotel Yash Regency ห้องพักกว้างขวาง สะอาด และราคาดี ชั้นบนสุดของตึกมีร้านอาหารไว้บริการด้วย
เมืองชัยปุระ (Jaipur) หรือคนเรียก The Pink City เมืองที่สถาปัตยกรรมตึกรามบ้านช่องเป็นสีชมพู ที่มาของสีชมพูเหล่านี้เป็นคำบัญชาของมหาราชาสวาอี ราม สิงห์ เป็นการทาสีเมืองเพื่อต้อนรับเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ที่เสด็จมาเยือน ถึงแม้ที่มาของสีเมืองไม่ได้เกี่ยวข้องกับความรัก แต่สถาปัตยกรรมสีชมพูเหล่านี้เป็นจุดดึงดูดให้คู่รักทั่วโลก หรือแม้แต่คู่รักชาวอินเดียเอง ต่างจูงมือกันมาถ่ายพรีเวดดิ้งกันทุกมุมเมือง
ฮาวามาฮาล (Hawa Mahal) หรือพระราชวังแห่งสายลม ตั้งอยู่ใจกลางเมืองชัยปุระ ถือเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์สำคัญของเมืองชัยปุระ สร้างด้วยหินทรายสีชมพู ประกอบด้วยหน้าต่างขนาดเล็กตกแต่งฉลุเป็นช่องลมจำนวน 953 บาน นักท่องเที่ยวสามารถยืนถ่ายรูปได้เฉพาะด้านหน้าพระราชวังเท่านั้น (ไม่มีค่าเข้าชม)
ประตูปาตริกา (Patrika Gate) ประตูเมืองลำดับที่ 9 ของเมืองชัยปุระ ตั้งอยู่วงเวียนจาวาฮาร์ (Jawahar Circle) มีทั้งหมด 9 โดม 7 ซุ้มประตู แต่ละซุ้มเป็นเลเยอร์สวยสะกดด้วยศิลปะภาพวาดเล่าถึงประวัติความเป็นมาของรัฐราชสถาน นักท่องเที่ยวเข้าไปชมความงามและถ่ายรูปได้ (ไม่มีค่าเข้าชม)
Caffe Palladio Jaipur เอาจริงตั้งใจไปถ่ายรูปมากกว่าไปกิน (ฮ่า ฮ่า) ร้านอาหารสุดน่ารักสไตล์สายหวานพาสเทล ขายอาหารสไตล์อิตาเลียนและอาหารขึ้นชื่อของอินเดีย ขนมหวาน และเครื่องดื่มหลากเมนู ที่นี่มีชาวต่างชาติแวะเวียนมานั่งอ่านหนังสือ ทานอาหารกันอย่างหนาตา ดังนั้นคนไทยอย่างพวกเรามีหรือจะพลาด
เป็นอีกหนึ่งวันที่เรายังคงตะลอนเที่ยวรอบเมืองชัยปุระ แพลนวันนี้จะเข้านอกออกวังชมความหรูหราของพระราชวังต่าง ๆ ซึ่งเมืองชัยปุระขึ้นชื่อเรื่องพระราชวังและงานสถาปัตยกรรมที่งดงามมาก บอกได้คำเดียวว่าตื่นตาตื่นใจไปทุกแห่ง
พระราชวังซิตี้พาเลซ (City Palace of Jaipur) พระราชวังสีชมพูที่รวบรวมเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเมืองชัยปุระไว้ให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้และชื่นชมความงามของสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างความเป็นราชสถานดั้งเดิมศิลปะแบบฮินดู เชื้อสายราชปุต (Rajput) กับความเป็นเอเชียกลางศิลปะแบบอิสลามเชื้อสายโมกุล (Mughal) ไว้อย่างลงตัว (ค่าเข้าชมเฉพาะโซนพระราชวังคนละ 500 รูปี และสำหรับทัวร์ทุกโซนแบบ Exclusive ราคาคนละ 2,500 รูปี)
มุมห้ามพลาดคือ ลานนกยูง 4 ฤดู (Pitam Niwas Chawk) ซึ่งเป็นสัตว์สัญลักษณ์รัฐราชสถาน เป็นลานกลางแจ้งสำหรับนางรำในสมัยก่อน
จาล มาฮาล (Jal Mahal) หรือพระราชวังกลางน้ำ ตั้งอยู่ระหว่างเส้นทางก่อนขึ้นภูเขาเพื่อไปป้อมอาเมร์ (Amer Fort) สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนตากอากาศของมหาราชา เดินเล่นยามเย็นบริเวณริมน้ำแห่งนี้อากาศดีมากเลยทีเดียว
ป้อมอาเมร์ (Amer Fort) ป้อมปราการและพระราชวังที่ตั้งโดดเด่นบนขุนเขาที่ห้อมล้อมด้วยทะเลสาบ ยิ่งใหญ่จนเราตะลึง เป็นป้อมปราการที่ขึ้นชื่อเรื่องงานสถาปัตยกรรมศิลปะฮินดูเชื้อสายราชปุตขนานแท้ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สวยงามควรค่าแก่การเข้าชมอย่างยิ่ง (ค่าเข้าชมคนละ 550 รูปี)
ระหว่างทางลงจากป้อมอาเมร์ เป็นที่ตั้งของ พานนา มีนา กา คุนด์ (Panna Meena Ka Kund) บ่อน้ำขั้นบันไดโบราณแต่ไม่ใหญ่เท่าที่ แชนด์ เบารี สร้างเป็นแนวทแยง 8 ชั้น เพื่อให้ชาวบ้านสามารถลงไปตักน้ำพร้อมกันจำนวนมากได้ (ไม่มีค่าเข้าชม)
ป้อมนาหรครห์ (Nahargarh Fort) ป้อมปราการที่ตั้งบนเทือกเขาอะระวัลลี (Aravalli Range) จุดประสงค์เพื่อป้องกันการรุกรานและยังเป็นสถานที่ประทับยามที่มหาราชาเสด็จออกล่าสัตว์ด้วย ป้อมแห่งนี้เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวเดินทางขึ้นมารอชมพระอาทิตย์ตกและวิวเมืองชัยปุระแบบ 360 องศา ถือเป็นอีกหนึ่งจุดที่มีความโรแมนติกสูงมาก ใช้เส้นทางขึ้นเขาเดียวกับทางไปป้อมอาเมร์
เราเริ่มออกเดินทางจากเมืองชัยปุระ เพื่อเริ่มเที่ยวฝั่งทิศตะวันตกของรัฐราชสถาน ปลายทางคือ เมืองจ๊อดปูร์ (Jodhpur) ระยะทางประมาณ 335 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมง ในพื้นที่ตัวเมืองเก่าเป็นเขตอนุรักษ์รถยนต์เข้าไม่ได้ ต้องใช้บริการ “Auto Rickshaw” หรือรถตุ๊ก ๆ ซิ่งพาสู่ที่พัก เรานอนกันที่ Juna Mahal Boutique Homestay ที่พักน่ารักบรรยากาศอบอุ่นเป็นกันเอง
เมืองจ๊อดปูร์ (Jodhpur) หรือที่คนมักเรียก The Blue City ถือเป็นอีกหนึ่งเมืองเก่าแก่ที่มีอายุ 500 กว่าปี เมืองนี้ตึกรามบ้านช่องเป็นสีฟ้าเกือบทั้งเมือง เนื่องจากสีฟ้าคือสีประจำตัวของพระศิวะ การทาบ้านสีฟ้าจึงหมายถึงความโชคดีและมีอำนาจ บางตำนานก็บอกว่ากลุ่มพราหมณ์และเศรษฐีเริ่มทาบ้านสีฟ้าก่อนเพื่อแบ่งชนชั้น นานเข้าคนก็ทาตามกันจนกลายเป็นสีฟ้าทั้งเมืองแบบนี้
อนุสรณ์สถานจัสวันต์ธาดา (Jaswant Thada) อนุสรณ์สถานแห่งนี้เขาบอกเสมือนทัชมาฮาลแห่งอาณาจักรมาร์วาร์ สร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงท่านมหาราชาจัสวันต์ สิงห์ที่ 2 ซึ่งเป็นมหาราชาผู้เป็นที่รักยิ่งของประชาชน (ค่าเข้าชมคนละ 30 รูปี)
ป้อมเมห์รานการห์ (Mehrangarh Fort) ป้อมปราการและพระราชวังโบราณที่ยิ่งใหญ่ มีความสมบูรณ์สูง และเป็นหนึ่งในสี่ของพระราชวังที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย ด้านในมีพิพิธภัณฑ์ที่ได้รับการตกแต่งอย่างสวยงาม เรามีเวลาตรงนี้ไม่มากเลยชมแค่ด้านนอกก็สัมผัสได้ถึงความยิ่งใหญ่อลังการแล้ว (ค่าเข้าชมคนละ 1,200 รูปี)
บรรยากาศยามค่ำคืน ลองเดินเข้าตามตรอกออกตามซอยสรุปงง ดียังหาทางกลับเจอ บนถนนก็จะมีร้านขายของเปิดกันหนาแน่น ผู้คนอยู่กันยันดึก จับกลุ่มนั่งคุยกันสนุกสนาน
เราออกเดินทางจากเมืองจ๊อดปูร์ สู่อีกหนึ่งเมืองต้องมนต์ที่ต้องไปเยือน เมืองพุชการ์ (Pushkar) เมืองเล็ก ๆ ที่อยู่ไม่ไกลถนนสายหลักระหว่างทางจากเมืองจ๊อดปูร์กลับสู่เมืองชัยปุระ ใครที่อยากไปขี่อูฐที่เมืองจัยซาแมร์ (Jaisalmer) แต่มีเวลาน้อยสามารถแวะขี่อูฐที่เมืองพุชการ์ได้ ไม่ไกลจากเมืองชัยปุระมาก ระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง 30 นาที
เมืองพุชการ์ (Pushkar) เมืองเก่าแก่มากเมืองหนึ่งของอินเดีย ตั้งอยู่กลางขุนเขาซึ่งมีมนต์เสน่ห์ทางทัศนียภาพที่สวยงามมากอีกหนึ่งแห่งของรัฐราชสถาน ที่นี่เป็นเมืองของความเชื่อและศรัทธา เป็นที่ตั้งของ ทะเลสาบพุชการ์ (Pushkar Lake) ทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อว่าต้นกำเนิดมาจากหยดน้ำตาของพระศิวะที่ร้องไห้หลังการจากไปของพระนางสตีอันเป็นที่รัก หรือบางความเชื่อก็กล่าวว่าพระพรหมสร้างโลกโดยเริ่มจากทะเลสาบแห่งนี้เป็นศูนย์กลาง ชาวบ้านจึงเชื่อว่าน้ำในทะเลสาบสามารถรักษาโรคและชำระบาปได้ประหนึ่งน้ำในแม่น้ำคงคา
คำเตือน !ถ้ามีคนมาเสนอตัวจะเป็นไกด์พาเที่ยวรอบหมู่บ้าน อย่าตกลงปลงใจกับเขา จากประสบการณ์ตรงของเรา เขาจะพาเราเดินเที่ยวตรงนู้นตรงนี้และไปจบที่วัดฮินดูแห่งหนึ่งในเมือง หลังจากนั้นเขาจะเรียกพราหมณ์มานำเราทำพิธีเพื่อให้เราได้ชำระบาปและขอพรให้คนในครอบครัว โดยบอกเราเสมอว่าทุกอย่างไม่มีค่าใช้จ่ายแต่ถ้าอยากบริจาคสามารถหยอดเงินได้ที่ตู้รับบริจาครอบวัด ก่อนทำพิธีพราหมณ์ให้เรากับเพื่อนแต่ละคนแยกนั่งไกลกันโดยมีพราหมณ์ประกบทุกคน หลังจากจบพิธีพราหมณ์จะบอกว่าเราต้องทำบุญค่าอาหารตามจำนวนสมาชิกในครอบครัวมีกี่คนต้องทำให้ครบ คนละ 1,000 รูปี ยอดเงินของเราที่พราหมณ์แจ้งมาปาไปเกือบ 6,000 รูปี เพื่อนเราทุกคนโดนเหมือนกันหมด ยังดีที่เราเหลือเงินรูปีไม่มากเพราะจะกลับบ้านแล้ว ซึ่งพราหมณ์ก็พยายามจะเก็บเงินเราให้ได้แต่เราไม่มีให้เลยรีบเดินมาหย่อนตู้บริจาคไป 200 รูปี และพากันเดินออกจากวัดเลย หลังจากนั้นลองหาข้อมูลดูพบกระทู้ถูกพราหมณ์รีดไถที่เมืองพุชการ์เพี๊ยบ
เมืองพุชการ์มีเทศกาลยิ่งใหญ่ที่ดึงดูดให้คนทั่วโลกอยากมาสัมผัส Camel Fair เทศกาลอูฐที่จัดขึ้นมาเป็นเวลากว่าร้อยปี แต่ก่อนจัดเพียงเพื่อให้เหล่าพ่อค้าขายแลกเปลี่ยนสัตว์อย่าง อูฐ ม้า และวัว แต่ปัจจุบันมีงานมหรสพยิ่งใหญ่และมีการประกวดอูฐเข้ามาเพิ่มให้งานมีสีสันมากขึ้น ซึ่งจะจัดขึ้นช่วงปลายเดือนตุลาคม-ต้นเดือนพฤศจิกายน ของทุกปี คาราวานอูฐมากกว่าหมื่นตัวจากทั่วอินเดียจะมารวมตัวกันที่นี่ ซึ่งหากไม่ใช่ช่วงเทศกาลนักท่องเที่ยวก็สามารถแวะเที่ยวเมืองและขี่อูฐชมเมืองได้เช่นกัน ราคาคนละประมาณ 1,400 รูปี ใช้เวลาชมเมืองประมาณ 2 ชั่วโมง
ถึงเวลากลับบ้านแล้ว เราเดินทางออกจาก Jaipur International Airport โดยสายการบิน Thai Smile (เวลา 06.05 น.) เป็นเวลาที่เช้ามาก ตอนแรกตั้งใจจะนอนที่สนามบิน แต่พอไปนอน Zade House Jaipur แล้วติดใจ เลยใช้ Traveloka Mobile App จองเช่นเคย สามารถให้พนักงานโรงแรมจองรถมารับตอนตี 4 เพื่อส่งที่สนามบินได้ ราคามิตรภาพเช่นเดิม
ทุกการเดินทางก่อเกิดมุมมองใหม่ให้พบเจอเสมอ ประเทศที่เคยอยู่นอกสายตากลับกลายเป็นประเทศที่อยู่ในใจ ประเทศที่ไม่เคยนึกถึงความโรแมนติกกลับมีออร่าเรื่องราวความรักที่เปล่งประกาย เที่ยวอินเดียครั้งนี้กระตุ้นให้เรากล้าออกจาก Comfort Zone ของตัวเอง มองความลำบากเป็นเรื่องสนุก ให้การโดนหลอกถือเป็นประสบการณ์ และซึมซับแรงบันดาลใจของความรัก จากหลากสถานที่เมื่อไปเยือน จากหลากนิสัยคนที่พบเจอ ยิ่งรู้จัก ยิ่งหลงรัก “อินเดีย”